เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 5. อุปาสกวรรค 9. อุปาลิสูตร
ได้ของเขา)และโทมนัส(ความทุกข์ใจ)ครอบงำได้ จึงรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวม
ในจักขุนทรีย์ ฟังเสียงทางหู ... ดมกลิ่นทางจมูก ... ลิ้มรสทางลิ้น ... ถูกต้องโผฏฐัพพะ
ทางกาย ... รู้ธรรมารมณ์ทางใจแล้วไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ปฏิบัติเพื่อสำรวมใน
มนินทรีย์ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้ว ก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรมคืออภิชฌาและ
โทมนัสครอบงำได้ จึงรักษามนินทรีย์ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ภิกษุนั้นผู้ประกอบ
ด้วยอริยอินทรียสังวรอย่างนี้ จึงชื่อว่าเสวยสุขอันไม่ระคนด้วยกิเลสภายใน
ภิกษุนั้นเป็นผู้ทำความรู้สึกตัวในการก้าวไป การถอยกลับ การแลดู การ
เหลียวดู การคู้เข้า การเหยียดออก การครองสังฆาฏิ บาตรและจีวร การฉัน การดื่ม
การเคี้ยว การลิ้ม การถ่ายอุจจาระปัสสาวะ การเดิน การยืน การนั่ง การนอน
การตื่น การพูด การนิ่ง
ภิกษุนั้นประกอบด้วยอริยสีลขันธ์ อริยอินทรียสังวร และอริยสติสัมปชัญญะ
อย่างนี้แล้ว พักอยู่ ณ เสนาสนะอันเงียบสงัด คือป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ
ป่าช้า ป่าทึบ ที่แจ้ง ลอมฟาง ภิกษุนั้นไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี
ก็นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า
ภิกษุนั้นละอภิชฌาในโลก1แล้วมีใจปราศจากอภิชฌาอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์
จากอภิชฌา ละความมุ่งร้ายคือพยาบาท มีจิตไม่พยาบาท มุ่งประโยชน์เกื้อกูล
สรรพสัตว์อยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความมุ่งร้ายคือพยาบาท ละถีนมิทธะ(ความ
หดหู่และเซื่องซึม) ปราศจากถีนมิทธะ กำหนดแสงสว่าง มีสติสัมปชัญญะอยู่ ชำระ
จิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะ ละอุทธัจจกุกกุจจะ(ความฟุ้งซ่านและร้อนใจ) เป็นผู้ไม่
ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบอยู่ภายใน ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจะกุกกุจจะ ละวิจิกิจฉา
(ความลังเลสงสัย) ข้ามวิจิกิจฉาได้แล้ว ไม่มีวิจิกิจฉาในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่
ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉา

เชิงอรรถ :
1 โลก ในที่นี้หมายถึงสภาพที่ต้องแตกสลาย กล่าวคืออุปาทานขันธ์ 5 ได้แก่ ความยึดติดว่า รูป เวทนา สัญญา
สังขาร และวิญญาณ มีตัวตนและเป็นของตนอันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ (ที.สี.อ. 217/190)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :237 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 5. อุปาสกวรรค 9. อุปาลิสูตร
ภิกษุนั้นครั้นละนิวรณ์ 5 ประการนี้ที่เป็นเครื่องเศร้าหมองใจ เป็นเครื่องทอน
กำลังปัญญาแล้ว สงัดจากกาม และอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มี
วิตก วิจาร ปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ อุบาลี เธอเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร การอยู่นี้
ยิ่งกว่าและประณีตกว่าการอยู่ทั้งหลายที่มีมาก่อนหรือ”
“อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“อุบาลี สาวกทั้งหลายของเราเมื่อพิจารณาเห็นธรรมแม้นี้แลในตน จึงอาศัย
เสนาสนะอันเงียบสงัด คือป่าโปร่งและป่าทึบอยู่ แต่สาวกของเราเหล่านั้นยังไม่บรรลุ
ประโยชน์ของตนก่อน
อีกประการหนึ่ง เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ภิกษุบรรลุทุติยฌาน ... อยู่
อุบาลี เธอเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร การอยู่นี้ยิ่งกว่า และประณีตกว่าการอยู่ทั้งหลายที่
มีมาก่อนหรือ”
“อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“อุบาลี สาวกทั้งหลายของเราเมื่อพิจารณาเห็นธรรมแม้นี้ในตน จึงอาศัย
เสนาสนะอันเงียบสงัด คือป่าโปร่งและป่าทึบอยู่ แต่สาวกของเราเหล่านั้นยังไม่บรรลุ
ประโยชน์ของตนก่อน
อีกประการหนึ่ง เพราะปีติจางคลายไป ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวย
สุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌาน ... อยู่ อุบาลี เธอเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร การอยู่นี้
ยิ่งกว่า และประณีตกว่าการอยู่ทั้งหลายที่มีมาก่อนหรือ”
“อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“อุบาลี สาวกทั้งหลายของเราเมื่อพิจารณาเห็นธรรมแม้นี้ในตน จึงอาศัย
เสนาสนะอันเงียบสงัด คือป่าโปร่งและป่าทึบอยู่ แต่สาวกของเราเหล่านั้นยังไม่บรรลุ
ประโยชน์ของตนก่อน
อีกประการหนึ่ง เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อน
ภิกษุบรรลุจตุตถฌาน ... อยู่ อุบาลี เธอเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร การอยู่นี้ยิ่งกว่าและ
ประณีตกว่าการอยู่ทั้งหลายที่มีมาก่อนหรือ”
“อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :238 }